การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2022 จบลงไปเป็นที่เรียบร้อย ด้วยชัยชนะของ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฝรั่งเศส ส่งผลให้เขาครองตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่สองได้สำเร็จ
ท่ามกลางความเข้มข้นของการเลือกตั้ง มาครง สวมนวมออกหาเสียงขณะลงพื้นที่ยังสโมสรกีฬาก่อนวันลงคะแนนเพียง 3 วัน ซึ่งก่อนหน้านั้นเจ้าตัวเคยกระโดดดีใจอย่างลืมตัว เมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาครองได้สำเร็จ
นี่คือเรื่องราวของกีฬากับประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฝรั่งเศส ที่ขยับเข้ามาใกล้คนจนมากขึ้นด้วยการบอกว่าตัวเองดูฟุตบอลและต่อยมวย พร้อมกับแสดงจุดยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านการสร้างโอลิมปิก เกมส์ ที่ไม่ทำลายธรรมชาติเป็นครั้งแรก
ชอบดูฟุตบอล หลงรักกีฬามวย
ย้อนกลับไปยังปี 2017 เอ็มมานูเอล มาครง สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ท่ามกลางความฮือฮาในสังคมยุโรป เนื่องจากนักการเมืองจากพรรคออง มาร์ช ที่เป็นเด็กหนุ่มในวงการเมืองระดับสูงด้วยวัยเพียง 40 ปี แถมยังมีประสบการณ์การทำงานในรัฐบาลเพียงสองปี ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
แม้จะเป็นที่รู้กันดีในหมู่ชาวฝรั่งเศสว่า มาครง มีความสามารถในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและบริหารจัดการงบประมาณของประเทศได้อย่างดีเยี่ยม แต่บารมีของเขายังคงไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับกระแสขวาจัดในฝรั่งเศสขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคู่แข่งของเขาคือ มารีน เลอแปน นักการเมืองหญิงที่ชูแนวคิดชาตินิยม และลงทำงานในวงการเมืองฝรั่งเศสมาตั้งแต่อายุ 18 ปี
เคราะห์ดีของมาครงที่กระแสผู้นำเสรีนิยมรุ่นใหม่กำลังเป็นที่สนใจในโลกตะวันตก ความสำเร็จของ จัสติน ทรูโด ที่สามารถคว้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแคนาดาเมื่อปี 2016 หรือ อันนาเลนา แบร์บ็อค ผู้นำพรรคกรีนของเยอรมนีที่ก้าวมาเป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่
นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า มาครง สามารถครองตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ หากเขาแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่าเจ้าตัวคือนักการเมืองที่เข้าใจปัญหารอบด้านและสามารถพัฒนาทุกภาคส่วนของประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจ
ปัญหาหนึ่งที่มาครงต้องเผชิญคือ เขาถูกนำเสนอด้วยภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่เติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นสูง แม้จะมีความฉลาดปราดเปรื่องจากการเรียนจบระดับบัณฑิตวิทยาลัย แต่สถาบันที่เขาจบมาคือ หรือ โรงเรียนการบริหารแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในระบบพิเศษที่จำกัดไว้ให้กับชนชั้นสูงในฝรั่งเศสเท่านั้น
มาครงจำเป็นต้องลดความเป็นชนชั้นสูงของเขาให้น้อยลง เพื่อเจาะฐานเสียงชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่ไม่เอียงซ้ายของฝรั่งเศส เขาจำเป็นต้องค้นหาชีวิตอีกด้านที่มีความเป็นชนชั้นแรงงานเข้ามาเคียงคู่กับภาพลักษณ์ของนักการเมืองไฮโซที่มีงานอดิเรกคือการเล่นเปียโน
กีฬา จึงกลายเป็นคำตอบของ เอ็มมานูเอล มาครง เขาเปิดเผยถึงชีวิตอีกด้านที่ไม่ต่างจากคนเดินดินทั่วไป นั่นคือเขามีความนิยมชมชอบในกีฬาฟุตบอลและมวย ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าตัวยังฝึกซ้อมกีฬาทั้งสองชนิดอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะกีฬามวยที่เจ้าตัวลงลึกเป็นพิเศษด้วยการเป็นหนึ่งในผู้คลั่งไคล้ มวยฝรั่งเศส กีฬาต่อสู้ที่คล้ายคลึงกับมวยสากล เพียงแต่สามารถใช้เท้าเป็นอาวุธได้
ในส่วนของกีฬาฟุตบอล มาครง ถือเป็นแฟนตัวยงของสโมสรโอลิมปิก มาร์กเซย ทีมฟุตบอลประจำเมืองมาร์กเซย ซึ่งเป็นที่รู้กันดีถึงฐานของแฟนบอลส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มชนชั้นแรงงานในเมือง (แม้เจ้าตัวจะเกิดที่เมืองอาเมียงส์ ทางตอนเหนือของประเทศก็ตาม) มาครงยังได้ทวิตถึงเหตุผลที่เขาสนับสนุนทีมฟุตบอลแห่งนี้ เนื่องจากโอลิมปิก มาร์กเซย ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเขาไม่ต่างจากชนชั้นล่างในเมือง
“ทำไมผมถึงเชียร์โอลิมปิก มาร์กเซย เหรอ? นั่นเป็นเพราะพวกเขาทำให้ผมกล้าที่จะฝัน พวกเขาทำให้ผมร้องไห้ และบางครั้งพวกเขาก็ทำให้ผมลุ้นระทึก” มาครง กล่าวถึงเหตุผลที่เขาสนับสนุนมาร์กเซยในทวิตเตอร์ หลังประกาศตัวเป็นแฟนคลับทีมดังกล่าวในงานปราศรัยที่เมืองมาร์กเซย
นี่คือนักการเมืองที่ติดตามกีฬาฟุตบอลไปพร้อมกับศึกษาปรัชญาของมาเคียเวลลีและเฮเกล นี่คือผู้นำรุ่นใหม่ที่เล่นสกีบนเทือกเขาพิเรนีสมาตั้งแต่เด็ก และไม่ลืมที่จะฝึกฝนกีฬาพื้นบ้านอย่างมวยฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง จึงกลายเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้อย่างแท้จริง
เมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2017 มาถึง มาครงครองตำแหน่งผู้ชนะทั้งสองรอบ โดยเฉพาะการเลือกตั้งรอบสองที่เขามีคะแนนเหนือ เลอแปน ด้วยคะแนน 66 ต่อ 34 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้นักการเมืองหัวเสรีนิยมใหม่รายนี้ได้ฉลองวันเกิดครบรอบอายุ 40 ปีในฐานะประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส
กีฬาคือเครื่องมือสำคัญทางการเมือง
หลัง มาครง เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของฝรั่งเศส นโยบายด้านกีฬาที่เขาประกาศเดินหน้าเต็มที่ คือการสนับสนุนให้กรุงปารีส รับบทบาทเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 โดยช่วงเวลาเดียวกันนี้ ฝรั่งเศส จะยังรับบทบาทเป็นเจ้าภาพการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกในปี 2023 ซึ่งมาครงเห็นด้วยว่ารัฐบาลควรทุ่มงบประมาณอย่างเต็มที่เพื่อทำให้อีเวนต์เหล่านี้ออกมาอย่างยอดเยี่ยมที่สุด
“การแข่งขันกีฬาเหล่านี้คืองานสุดพิเศษ คุณสามารถเปลี่ยนหน้าตาของประเทศได้ในทันที เพราะคุณสามารถสร้างพื้นฐานที่มีโครงสร้างแข็งแกร่ง และยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับงานเหล่านี้เพื่อผลักดันศักยภาพตัวคุณไปอีกขั้น”
“เราจำเป็นต้องผลักดันให้ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพอีเวนต์กีฬาขนาดใหญ่อย่าง รักบี้ชิงแชมป์โลกในปี 2023 และโอลิมปิก เกมส์ 2024 เพราะพวกเรารู้ว่าต้องจัดงานเหล่านี้อย่างไร เรามีทีมงานที่ยอดเยี่ยม นักกีฬาความสามารถสูง และความภูมิใจในชาติอย่างเต็มเปี่ยม”
มาครงให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างกีฬาของฝรั่งเศสทั้งระบบ เขากล่าวถึงเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานของกีฬาอาชีพในฝรั่งเศสเพื่อพัฒนานักกีฬาสู่ระดับยุโรปและระดับโลก นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการสนับสนุนการพัฒนาสโมสรกีฬาระดับกลางและระดับท้องถิ่นที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์ต่างๆ
มาครงยังมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบกีฬาสมัครเล่น โดยในช่วงเวลาที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี มีรายงานว่าชาวฝรั่งเศสราว 42 เปอร์เซ็นต์ไม่เคยเล่นกีฬาใดเลยในชีวิต เนื่องจากขาดการสนับสนุนในระดับชุมชน และไม่มีการปลูกฝังให้เด็กเล่นกีฬาในโรงเรียน โดยกลุ่มคนที่เล่นกีฬาน้อยที่สุดคือ กลุ่มแม่บ้านพ่อบ้าน แรงงานปกน้ำเงิน (กลุ่มแรงงานทั่วไป) กลุ่มคนรับเงินบำนาญ และคนตกงาน
เห็นได้ชัดว่า มาครง มองเห็นความสำคัญของกีฬาต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เขาพูดตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแล้วว่า ภาคการเมืองและภาคเศรษฐกิจสามารถพัฒนาศักยภาพของวงการกีฬาฝรั่งเศสได้ ซึ่งถ้าเรามองไปที่ผลงานตลอด 5 ปีแรกในฐานะผู้นำประเทศของเขาจะเห็นว่าเขาพยายามสอดแทรกจุดยืนทางการเมืองของเขาลงไปในแวดวงกีฬาอย่างเปิดเผย
ยกตัวอย่าง นโยบายการจัดปารีส เกมส์ 2024 ด้วยความตั้งใจที่จะให้เป็นมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง มาครง ได้ประกาศตัวตั้งแต่ต้นว่า เขามีความพยายามจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมสีเขียว ดังนั้นแล้ว การสร้างต้นแบบโอลิมปิกสีเขียวโดยปารีส เกมส์ จึงได้รับแรงสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลฝรั่งเศส
รวมถึงการออกมาต่อต้านฟุตบอล ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก โดยมาครงได้โจมตีว่าฟุตบอลรายการนี้ขัดต่อความเป็นหนึ่งเดียว และหลักการพื้นฐานของกีฬา ซึ่งถ้ามองลงไปให้ลึกกว่านั้นแล้ว การยืนตรงข้ามซูเปอร์ลีกของมาครงมีเหตุผลมาจากการปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นแนวคิดหลักในการบริหารประเทศของมาครง
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาในฐานะประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ได้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่ชัดเจนในฐานะผู้นำที่หัวรั้น มาครงไม่ลังเลที่จะแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นใดตามที่ตัวเองต้องการ
เขายังปรับเปลี่ยนและสร้างสรรค์แนวคิดเสรีนิยมใหม่ในรูปแบบของตัวเอง ซึ่งให้ความสำคัญกับความรักประเทศชาติและความภูมิใจในฝรั่งเศสไปพร้อมกับการชื่นชมความเป็นหนึ่งเดียวของยุโรปและเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์
นี่คือเหตุผลว่าทำไมมาครงถึงดีใจอย่างสุดเหวี่ยงหลังทีมชาติฝรั่งเศสคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 ไม่ใช่เพราะเขาเป็นแค่แฟนฟุตบอล แต่รวมถึงเป็นการเน้นย้ำจุดยืนทางการเมืองของตนที่ต้องการขับเน้นความภูมิใจในชาติโดยแสดงออกในฐานะผู้นำประเทศที่สนับสนุนกิจกรรมนานาชาติไปพร้อมกัน
การใช้กีฬาเพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือสนับสนุนความนิยมทางการเมืองของมาครงเริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนเขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และยังดำเนินต่อไปถึงปัจจุบันเมื่อการเลือกตั้งผู้นำประเทศในปี 2022 มาถึง เขาไม่ลังเลที่จะหาเสียงด้วยการสวมนวมชกมวย เพื่อแสดงให้เห็นถึงมุมอันขี้เล่นซุกซนและความติดดินของผู้นำรายนี้อีกครั้งเหมือนกับที่เขาเคยทำในปี 2017
ปัญหาคือ มาครง ไม่ได้น่ารักหรือเข้าถึงง่ายแบบนี้ทุกวัน ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมาเขาถูกวิจารณ์ในเรื่องของความไม่จริงใจและความหยิ่งยโส ทั้งเรื่องการหมางเมินในการแก้ปัญหาขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลบนท้องถนน ก่อนจะแก้ปัญหาแบบขอไปทีด้วยนโยบายประชานิยมที่ไม่ตอบโจทย์ระยะยาว แต่ความบ้าอำนาจในการออกนโยบายแบบไม่เห็นใจประชาชนยังคงอยู่เหมือนเดิม รวมถึงการออกมาแสดงจุดยืนตรงข้ามกับชาวมุสลิมและกลุ่มหัวก้าวหน้า เพียงเพราะหวังฐานเสียงจากกลุ่มคนเอียงขวาซึ่งมีเยอะขึ้นทุกขณะในฝรั่งเศส
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อยิ่งเวลาผ่านไป มาครง จะยิ่งถูกเกลียดชังโดยผู้คนในประเทศ เพราะกลุ่มการเมืองปีกซ้ายมองมาครงเป็นปีศาจที่พยายามรื้อระบบรัฐสวัสดิการและเดินหน้าลดภาษีคนรวยเพิ่มภาษีคนจน ส่วนกลุ่มชาตินิยมขวาจัดก็มองมาครงเป็นคนเชื่อถือไม่ได้ กระโดดไปซ้ายทีขวาที แถมยังสนับสนุนสหภาพยุโรปกับเสรีนิยมใหม่ ซึ่งไม่ตรงกับโจทย์ของประชานิยมฝ่ายขวาที่ผลประโยชน์ของชาติต้องมาก่อน
การคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยสองแบบหืดจับของ มาครง สะท้อนให้เห็นถึงผลงานในช่วง 5 ปีแรกของเขาอย่างชัดแจ้ง ถึงแม้การยืนอยู่ตรงกลางทางการเมืองแบบสุดโต่งจะทำให้ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเดินไปสุดโต่งเช่นเดียวกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาครง ยังดีพอที่จะเอาชนะใจชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่
แม้ความเห็นของคนในสังคมจะแตกออกเป็น 3 ฝ่ายอย่างชัดเจน แต่อีกประการสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันคือ มารีน เลอแปน คู่แข่งตัวฉกาจที่กลับมาชิงตำแหน่งอีกครั้งก็มีจุดอ่อนสำคัญอยู่ที่การแสดงออกว่าเป็นมิตรกับประเทศรัสเซีย และ วลาดิเมียร์ ปูติน อย่างออกนอกหน้า ทั้งๆที่ในปี 2022 นี้รัสเซียจะเปิดฉากบุกยูเครนจนเกิดเป็นภัยคุกคามของทวีปยุโรปก็ตาม
หนึ่งในนโยบายสำคัญที่พาเขาประสบความสำเร็จอย่างในทุกวันนี้คือ การใช้กีฬาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น การสร้างภาพลักษณ์ของตนก่อนการเลือกตั้ง หรือ การตอบสนองนโยบายและจุดยืนทางการเมืองเมื่อได้เป็นประธานาธิบดี ไม่ว่าฝรั่งเศสจะมีแนวคิดใดที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาหลังจากนี้ เชื่อเลยว่ามันจะต้องสอดคล้องกับแนวทางของ เอ็มมานูเอล มาครง อย่างแน่นอน